โลกไม่สิ้นเรื่องราวระทึก เปิดโฉม 2 ดาวหางแห่งปี 56

0 ความคิดเห็น

กระแสสิ้นโลกยังฮือฮาในหลายประเทศ ล่าสุดโลกลุ้นระทึกอีกในปี 2556 เพราะจะมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น 3 เรื่อง คือ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ จะมีดาวเคราะห์น้อยชื่อ DA14 เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40 เมตร โคจรเข้ามาเฉียดผิวโลกในระยะที่ฉิวเฉียดมาก โดยห่างจากพื้นผิวโลกเพียง 28,600 กิโลเมตรเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีปรากฏการณ์ดาวหาง 2 ดวง คือ ดวงแรกชื่อ C/2011L4 Panstars จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในระยะ 165 ล้านกิโลเมตร ในวันที่ 5 มีนาคม และดาวหางไอซอน (ISON) จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน


"อารี สวัสดี" นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย จัดแถลงข่าวให้ติดตามดูปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะดาวหางทั้ง 2 ดวง ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในปี 2556 และการเกิดปรากฏการณ์ซัน เอาท์เทจ (Sun outage) รวมถึงปรากฏการณ์พายุสุริยะ (Solar Storm 2013)
 
"สำหรับในปี ค.ศ.2013 หรือ พ.ศ.2556 การเกิดปรากฏการณ์พายุสุริยะจะเกิดขึ้นเป็นปกติ แม้จะมีการจับตามองว่าในปี 2012-2013 จะเกิดพายุสุริยะค่อนข้างมาก ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริง แต่ในปีนี้มีความเข้มข้นค่อนข้างมากกว่าปี 2013 ดังนั้น ปีหน้าจึงไม่น่าตื่นเต้นเท่าปีนี้ ระบบสื่อสารต่างๆ จึงไม่ต้องกังวล อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน 2556 จะเกิดปรากฏการณ์ซันเอาท์เทจ (Sun Outage) คือการที่ดวงอาทิตย์ ดาวเทียม และโลก โคจรตรงกัน ซึ่งคลื่นรังสีจากดวงอาทิตย์จะรบกวนคลื่นส่งสัญญาณจากดาวเทียม ส่งผลให้การส่งสัญญาณระหว่างดาวเทียมกับสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดินที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรของโลก อย่างประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น เกิดการขัดข้อง ส่วนใหญ่จะทำให้ผู้รับชมโทรทัศน์ไม่สามารถรับชมได้ชั่วขณะ ประมาณ 5-10 นาที หรือมากกว่านั้นในบางพื้นที่ ถือเป็นปัญหาเฉพาะเทคโนโลยีกับธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นปกติทุกปี ประมาณเดือนมิถุนายน-กันยายน และเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรของโลกที่มีดาวเทียมตั้งอยู่ ในเวลาประมาณ 10.00-14.00 น. ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ในอนาคตด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญจะคิดค้นวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว"
 
สิ่งที่น่าตื่นเต้นในปี 2013 จะมีดาวหาง 2 ดวง ปรากฏให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า คือ ดาวหางแพนสตาร์ส ที่นักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบในเดือนมิถุนายน 2554 ดาวหางนี้มีวงโคจรเป็นรูปไฮเพอร์โบลา จะผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 10 มีนาคม 2556 และจะใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 5 มีนาคม 2556 ที่ระยะ 1.1 หน่วยดาราศาสตร์ ระนาบวงโคจรของดาวหางเกือบตั้งฉากกับวงโคจรโลก โดยเอียงทำมุม 84 องศา
 
"สำหรับประเทศไทย ช่วงที่จะเห็นดาวหางดวงนี้ได้ดีที่สุดคือ ระหว่างวันที่ 9-17 มีนาคม 2556 ในช่วงค่ำ เพราะคาดว่าเป็นช่วงที่ดาวหางสว่างที่สุด และตกขอบฟ้าช้าที่สุด อย่างไรก็ตาม การมองเห็นส่วนหัวของดาวหางแพนสตาร์สอาจจะสังเกตได้ยาก เพราะท้องฟ้าเริ่มมืด จะเห็นชัดในเวลาที่มีแสงสนธยา ท้องฟ้าไม่มืดสนิท แต่อาจสามารถเห็นส่วนหางที่สอดยาวขึ้นมาเหนือขอบฟ้าได้ และคาดว่าในวันที่ 8-12 มีนาคม 2556 โชติมาตรของดาวหางแพนสตาร์สอาจอยู่ในช่วง +1 ถึง -1 ถือว่าสว่างมาก แต่ก็มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ สำหรับการสังเกตทำได้ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกดินไปแล้ว 30 นาที โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ควรอยู่ในสถานที่เปิดโล่ง ไม่มีสิ่งใดบดบัง หรือบนอาคารสูง ชายทะเล เป็นต้น"
 
ส่วนอีกดวงคือ "ดาวหางไอซอน" มีแนวโน้มว่าจะสว่างมากกว่าดาวหางแพนสตาร์ส คาดว่ามีโชติมาตร -10 ถึง -16 ถือว่าสว่างมากใกล้เคียงหรือสว่างกว่าดวงจันทร์เต็มดวง ถูกค้นพบเมื่อเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดประมาณวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2556 และใกล้โลกที่สุดราววันที่ 26-27 ธันวาคม 2556 หากความสว่างเกิดขึ้นตามที่คาดหมาย จะทำให้ประเทศไทยสามารถมองเห็นดาวหางไอซอนได้ด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้าเวลากลางคืนได้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งดาวหางจะขึ้นและตกพร้อมดวงอาทิตย์ ไปจนถึงต้นเดือนมกราคม 2557 บนซีกฟ้าตะวันออกในเวลาเช้ามืด
 
ทั้งนี้ ถือว่าดาวหางไอซอนอาจเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดในรอบหลายสิบปี แต่นักดาราศาสตร์ก็ได้เตือนไว้ว่าอย่าตั้งความหวังสูงเกินไป เพราะในอดีตมีตัวอย่างของดาวหางหลายดวงที่มีแนวโน้มว่าจะสว่างมาก แต่เมื่อถึงเวลากลับสว่างน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากดาวหางทั้ง 2 ดวง เพิ่งถูกค้นพบ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อใด ขณะนี้นักดาราศาสตร์กำลังศึกษาข้อมูลและติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
 
ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ชาวโลกต้องตามลุ้น ตามดูกันอีกครั้งในปีหน้า
 
Share this article :

แสดงความคิดเห็น

 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2011. PARTTIMEGETTOYOU - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger